ข่าวสั่งให้ข่าวค่ำ พังงา-เฮลั่น พบแหล่งแร่ลิเทียมในอำเภอตะกั่วทุ่ง ชาวบ้านตื่นเต้นคาดสร้างประโยชน์สร้างงานและรายได้ให้กับพื้นที่
วันที่ 21 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากมีการนำเสนอข่าวเรื่องการพบแหล่งแร่ลิเทียม ในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จ.พังงา และมีบางสื่อได้นำเนอว่ามีปริมาณของแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ทำให้กลายเป็นเรื่องทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ ของชาวจังหวัดพังงาและประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งคาดหวังว่าจะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ผู้ผลิตรถไฟฟ้าชั้นนำของโลกได้ โดยทางนายสุธา พรหมแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา พร้อมด้วยสมาชิกสภา อบต.ถ้ำ ได้นำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านบางอีตำ ม.2 ต.ถ้ำ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงาเพื่อเยี่ยมชมการเจาะสำรวจหาแหล่งแร่ ในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันของชาวบ้าน พบว่าเจ้าหน้าที่ของบริษัทกำลังใช้เครื่องจักรเจาะสำรวจหัวเจาะเพชร(DIAMOND CORE DRILLING) เพื่อเก็บตัวอย่างใต้ดินออกมาเป็นแท่งทรงกระบอก ให้ทางนักธรณีวิทยาวิเคราะห์แท่งตัวอย่างโดยใช้สารเคมีเพื่อตรวจสอบดูส่วนประกอบแร่ และสิ่งต่างๆ และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายเจาะบอกว่าเจอชั้นหินที่มีลักษณะของแร่ลิเทียมอยู่ทุกจุดที่เจาะ แต่ปริมาณมากน้อยของแต่ละหลุมไม่เท่ากัน ซึ่งต้องให้ทางนักธรณีวิทยาของบริษัทเป็นฝ่ายวิเคราะห์ว่ามีปริมาณมากขนาดไหนสำหรับในพื้นที่ตำบลถ้ำนั้นได้เจาะไปแล้วมากกว่า 60 หลุม ในพื้นที่ป่าควนเขาเปาะและที่ดินที่เป็นสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นทางฝ่ายเจาะบอกว่าหินที่ส่วนผสมของแร่ลิเทียมจะมีสีออกทางสีม่วง และจะเจอในความลึกระดับ120-240 เมตร และก่อนหน้าจะเข้ามาเจาะในพื้นที่ตำบลถ้ำนั้น ได้ทำการเจาะในพื้นที่ตำบลกะไหลมาแล้ว มากกว่า 300 หลุม ซึ่งพบว่ามีปริมาณแร่ลิเทียมมากพอที่จะลงทุนทำเหมืองได้
นายสุธา พรหมแก้ว เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ได้มีการเข้ามาสำรวจเก็บตัวอย่างแร่เมื่อสองสามปีที่แล้ว ซึ่งตนเองก็ไม่รู้ว่าสำรวจหาแร่อะไร จากนั้นเมื่อต้นปี 2566 ทางบริษัทแพน เอเชีย เมทัล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ ป่าควนเขาเปาะ เพื่อศึกษาและวิจัยทางวิชาการ สำรวจแร่ ตั้งแต่วันที่26 ธันวาคม 2565 จนถึงวันที่14 กุมภาพันธ์ 2567 ได้เข้ามายื่นเรื่องขอเจาะสำรวจปริมาณแหล่งแร่ลิเทียมต่อ อบต.ถ้ำ และทางสภา อบต.ถ้ำ ก็ได้ลงมติอนุญาตให้มีการสำรวจได้ เมื่อมีข่าวว่าค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมในพื้นที่ตำบลกะไหลและตำบลถ้ำ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา มีปริมาณเป็นอันดับ3 ของโลก ชาวตำบลถ้ำต่างก็ดีใจที่ในพื้นที่มีทรัพยากรที่มีค่า ในอนาคตอาจจะสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ หากต่อไปจะมีการเข้ามาทำเหมืองแร่ในบริเวณนี้ทางเราก็ยินดี ส่วนในเรื่องของข้อเป็นห่วงเกี่ยวกับการทำเมืองแร่จากกระทบต่อปัญหาของสิ่งแวดล้อมหรือไม่นั้นนายกอบต.ถ้ำกล่าวว่า ทุกการทำธุรกิจย่อมมีผลกระทบทั้งหมด แต่เราต้องเลือกว่าสิ่งไหนที่ดีกว่า และได้รับประโยชน์มากกว่า ซึ่งตนเองคิดว่าชาวตำบลถ้ำไม่น่าจะขัดข้อง
ขณะที่ล่าสุดทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกหนังสือชี้แจงข้อมูลเรื่องผลการสำรวจแหล่งลิเทียมในประเทศไทย ตามที่ได้เผยแพร่ข่าวว่ามีการพบแหล่งลิเทียมในประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งแร่จากหินแข็งในพื้นที่แหล่งเรืองเกียรติ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา โดยแหล่งลิเทียมเรืองเกียรติมีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตัน ที่เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเทียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตัน หากออกแบบแผนผังการทำเหมืองอย่างเหมาะสมและสามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ใด้ร้อยละ 25 คาดว่าจะสามารถนำลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคันนั้น
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ขอชี้แจงว่า คำว่า Mineral Resource มีความหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม ดังนั้นการนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันตับต้น ๆของโลกได้
สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้ เป็นแร่เลพิโดไลต์ (lepidolte) ที่พบในหินเพกมาไทต์(pegnatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียมหรือเกรดลิเทียมออกไซต์เฉลี่ย 0.459 แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมากแต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า อีกทั้งแร่ลิเทียมมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ดีบุกและธาตุหายากอื่น ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งดีบุกที่สำคัญในอดีต จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบแหล่งลิเทียมเพิ่มเติมหากมีการสำรวจในอนาคต
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจลิเทียมจำนวน 3 แปลง ในพื้นที่จังหวัดพังงาและมีคำขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจลิเทียมในพื้นที่จังหวัดอื่นอีก เช่น จังหวัดราชบุรี และ จังหวัดยะลา โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะเร่งรัดให้เกิดการสำรวจลิเทียมและแร่หายากเพิ่มขึ้น ให้ประเทศไทยมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับการทำเหมืองลิเทียม เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป