ลำปาง- มอบกระบือไถ่ชีวิตพระราชทานแก่เกษตรกร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

 

 

 

 

 

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 9 ก.ค.2567 ที่ จ.ลำปาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เทศบาลตำบลปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง มีการประกอบพิธีมอบกระบือไถ่ชีวิตพระราชทาน ภายใต้โครงการอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี นายพัชระ สิมะเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายนเรศวร์ฤทธิ์ อุบลศรี นอภ.ห้างฉัตร นายย้าย ฮาวคำฟู นายก ทต.ปงยางคก หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่
เข้าร่วมพิธี

 

 

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานกระบือที่ทรงไถ่ชีวิต เป็นกระบือเพศเมีย จํานวน 2 ตัว และได้ส่งมอบให้แก่นายศักดิ์ พรมศรี เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา เพื่ออุทิศบุญกุศล และเสริมความเป็นสิริมงคล สําหรับเกษตรกร ที่ได้รับมอบกระบือไถ่ชีวิตพระราชทาน จํานวน 2 ตัว ถือว่าได้สิ่งอันเป็นมงคล แก่ตนเองและครอบครัว เพราะเป็นกระบือของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งทรงไถ่ชีวิตและพระราชทานให้ จึงควรแก่ความภาคภูมิใจที่ได้รับ หากเลี้ยงดูเป็นอย่างดีมีความขยัน อดทนและซื่อสัตย์ มีความประพฤติชอบก็จะมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพมีรายได้เพิ่มขึ้น

สำหรับ “โครงการอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย” จ.ลำปาง ได้ดำเนินงานรับสนองพระราชดำริ สืบทอดพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการขับเคลื่อนงานโครงการฯ เพื่อการพัฒนาประเทศตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมภูมิปัญญาไทยด้วยวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม สืบสาน รักษา และต่อยอดการอนุรักษ์กระบือไทย โดย จ.ลำปางได้รับพระราชทานกระบือเพศเมียที่ทรงไถ่ชีวิต จำนวน 2 ตัว เพื่อนำเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งกระบือที่ได้รับพระราชทานนี้ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการดูแลฟื้นฟูสุขภาพให้มีสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมทำการผสมพันธุ์ให้ตั้งท้องก่อนส่งมอบกรรมสิทธิ์ให้แก่เกษตรกร

โดยการมอบแม่พันธุ์กระบือพระราชทานแก่เกษตรกรผู้เลี้ยง ก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่เกษตรกรรากหญ้าผู้มีฐานะยากจน เป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้มีกระบือไว้เลี้ยงเป็นของตนเองโดยไม่ต้องลงทุนหาซื้อแม่พันธุ์ที่มีราคาแพง ทั้งจะได้นำกระบือไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตพืชผลทางการเกษตร ด้วยการใช้แรงงานกระบือในการทำงานด้านเกษตรกรรม ใช้มูลเป็นปุ๋ยในการปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มผลผลิตและเสริมความอุดมสมบูรณ์ให้แก่สภาพแวดล้อม อีกทั้งการมอบพันธุ์กระบือดังกล่าว เพื่อเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์กระบือบ้าน รวมถึงสนับสนุนต่อยอดการเลี้ยงกระบือไทยให้เชื่อมโยงกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่.

 

 

วินัย/ลำปาง รายงาน

/Cr.ทต.ปงยางคก

You missed