#วัดคีรีวงศ์จัดประเพณีบุญตักบาตรเทโวโรหณะ
วัดคีรีวงศ์จัดงานบุญประเพณีออกพรรษาตักบาตรเทโวโรหณะ ประจำปี 2567 ข้าวสาร อาหารแห้งและข้าวต้มลูกโยน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมไทย รักษาเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชน โดยกำหนดจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2567 เริ่มเวลา 07.00 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณหน้าองค์พระจุฬามณีเจดีย์ ยอดเขาดาวดึงส์ วัดคีรีวงศ์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ “ตักบาตรเทโว” เป็นประเพณีการทำบุญตักบาตรที่เกิดขึ้นหลังวันออกพรรษา 1 วัน คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 19 ตุลาคม 2567 เพื่อระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดา

“ตักบาตรเทโว” หรือตักบาตรเทโวโรหณะ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในเวลาเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หลังจากที่พระองค์ทรงจำพรรษาที่นั่นเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา ครั้นถึงวันมหาปวารณา เสด็จลงจากเทวโลกในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตำนานเล่าว่า พระอินทร์ทรงนิมิตบันได 3 อย่างถวาย คือ บันไดทอง บันไดแก้วมณี บันไดเงิน หัวบันไดพาดอยู่ที่ยอดเขาสิเนรุ เชิงบันไดอยู่ที่ประตูเมืองสังกัสสนครใกล้เมืองพาราณสี เวลาเสด็จลงทรงใช้บันไดแก้วมณี เหล่าเทวดาลงทางบันไดทอง เหล่ามหาพรหมลงทางบันไดเงิน เรียกการเสด็จครั้งนั้นว่า เทโวโรหณะ

เมื่อชาวบ้านชาวเมืองทราบข่าวก็พากันไปทำบุญตักบาตรพระพุทธองค์ที่นั่น และเป็นการรับเสด็จพระพุทธองค์ด้วย กล่าวกันว่า ในวันนี้ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก ต่างมองเห็นซึ่งกันและกัน จึงเรียกวันนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก” คือ เปิดให้เห็นกันทั้ง 3 โลกนั่นเอง

การตักบาตรรับเสด็จพระพุทธเจ้าได้ปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันมาเป็นประเพณีจนถึงเมืองไทย จึงเรียกประเพณีนี้ ว่า การตักบาตรเทโวโรหณะ เพื่อให้สะดวกในการสื่อความหมายนิยมสั้นๆ ว่า การตักบาตรเทโว ด้วยเหตุนี้ วันเทโวโรหณะจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วันตักบาตรเทโว และเมื่อถึงวันตักบาตรเทโว พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตรกันที่วัด โดยแต่ละที่จะเตรียมของไปทำบุญในแบบที่อาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวัดในแต่ละที่

You missed