จังหวัดตาก ยกระดับกล้วยน้ำว้า ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยใช้ตลาดนำการผลิต
31 มกราคม 2568 เวลา 09.30 น.
นายชูชีพ พงษ์ไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก มอบหมายให้นายสวนิต สุริยกุล ณ อยุธยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานเปิดงาน โครงการวิจัยและผลงานวิจัย (บพท.) การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งเครือข่าย “กล้วยน้ำว้ารักษ์ถิ่น” ธุรกิจชุมชนร่วมยกระดับห่วงโซ่มูลค่าเศรษฐกิจฐานราก จังหวัดตากและจังหวัดสุโขทัย ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยใช้ตลาดนำการผลิตเพื่อสร้างความยั่งยืนของรายได้เกษตรกรในระยะยาว โดยมี ผอ สถาบันวิจัยเทคโลยีเกษตร มทร.ล้านนา ดร.สุภาวดี แช่ม หัวหน้าชุดโครงการวิจัยฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ชัย จินดาพันธ์ ปลัดจังหวัดตาก พาณิชย์จังหวัดตาก เกษตรจังหวัดตาก เกษตรและสหกรณ์จังหวัดตาก อุตสาหกรรมจังหวัดตาก ผู้แทนหอการค้าจังหวัดตากและจังหวัดสุโขทัย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชนเครือข่ายผู้ปลูกกล้วยน้ำว้าจังหวัดตาก และจังหวัดสุโขทัย เข้าร่วมงานฯ ณ ห้องประชุมเวียงวัง โรงแรมเวียงตากริเวอร์ไซด์ อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก
กิจกรรมนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิจัยจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตาก และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับห่วงโซ่มูลค่าเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่จังหวัดตาก และจังหวัดสุโขทัย ผ่านการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ประจำปี 2567
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคณะวิจัย เกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาคีในห่วงโซ่การผลิต การแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่มและการตลาดของกล้วยน้ำว้า เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจชุมชนร่วม ส่งเสริมมาตรฐานการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม ตลอดจนกระจายรายได้และความรู้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
นางสาวปาริชาติ พงค์พันเทา พาณิชย์จังหวัด กล่าวว่า ภารกิจในพื้นที่ในการดำเนินการด้านการตลาด สำนักงานฯ ได้ใช้การตลาดนำการผลิต (Demand Driven) ซึ่งจังหวัดตากมีสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพหลากหลายชนิด “กล้วยน้ำว้า” เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง โดยเฉพาะกล้วยของจังหวัดตาก ที่มีความเด่นที่แตกต่าง ฉะนั้น เพื่อยกระดับรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่ม สำนักงานพาณิชย์ฯ จึงได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยฯ มทร.ล้านนา เพื่อผลักดันกล้วยน้ำว้าให้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดตากเพิ่มในลำดับถัดไป ปัจจุบัน กล้วยน้ำว้ารักษ์ถิ่น มีวางจำหน่ายใน TOPs supermarket
นอกจากนี้จังหวัดตากยังมีเป้าหมายในการยกระดับสินค้าเกษตรชนิดอื่น ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเลือกสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูงและเป็นสินค้าที่มีศักยภาพของจังหวัดตาก ได้แก่ อะโวคาโด เสาวรส กาแฟ บุก เป็นต้น
Share this content: