






กรมทางหลวง เดินหน้าฟังเสียงชาวแม่ฮ่องสอน ครั้งที่ 2 เพื่อจะดำเนินการ ปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 1095ช่วง ต.แม่นาเติง – แม่ฮ่องสอน ซึ่งหากมีการก่อสร้างแล้วเสร็จจะส่งผลประโยชน์ต่อชาวแม่ฮ่องสอน และการท่องเที่ยวให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2568) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ โรงแรมสวนหมอกคำรีสอร์ท อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง บนทางหลวงหมายเลข 1095 ช่วง ต.แม่นาเติง – แม่ฮ่องสอน เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษา และสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่โครงการ เพื่อนำไปใช้พิจารณาประกอบการออกแบบรายละเอียด รวมทั้งการกำหนดมาตรการลดผลกระทบต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม
โดยการประชุมในครั้งนี้ ได้นำเสนอสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ โดยมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้ สำหรับแนวเส้นทางโครงการ มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางหลวงหมายเลข 1095 ประมาณ กม.ที่ 84+851 ที่ต.แม่นาเติง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และไปสิ้นสุดโครงการบริเวณทางหลวงหมายเลข 1095 ประมาณ กม.ที่ 204+023 ที่ ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ระยะรวมทางประมาณ 116.523 กม. และมีแนวศึกษาเพิ่มเติม 2 จุด คือ ทางหลวงหมายเลข 1395 ระยะทางศึกษา 2.30 กม. และทางหลวงหมายเลข 1285 ระยะทางศึกษา 1 กม. โดยโครงการฯ จะดำเนินการศึกษาและออกแบบปรับปรุงถนนเดิมจาก 2 ช่องจราจรให้มีขนาด 4 ช่องจราจรหรือตามความเหมาะสม โดยแยกพิจารณาเปรียบเทียบ 3 ลักษณะ คือ
1. ทางหลวงในเขตชุมชนแบบมีทางเท้า ที่ปรึกษาได้กำหนดรูปแบบทางหลวงรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาคัดเลือกรูปแบบที่เหมาะสม โดยแยกพิจารณาเปรียบเทียบ 3 รูปแบบ ดังนี้
รูปแบบที่ 1 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบเกาะยก (Raised Median)
รูปแบบที่ 2 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต (Barrier Median)
รูปแบบที่ 3 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบเกาะสี (Painted Median)
ซึ่งจากผลการพิจารณา รูปแบบที่เหมาะสม คือ รูปแบบที่ 1 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบเกาะยก (Raised Median) ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร จำนวน 4 ช่องจราจร (ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) ไหล่ทางด้านนอกกว้างข้างละ 2.50 เมตร ความกว้างเกาะกลาง 5.10 เมตร โดยรูปแบบนี้ทำให้ถนนมีความปลอดภัย เนื่องจากมีการแบ่งแยกทิศทางการจราจรแยกออกจากกันด้วยเกาะกลาง การเดินทางรวดเร็วและรถยนต์สามารถใช้ความเร็วสูงได้อย่างต่อเนื่อง ประชาชนเดินข้ามถนนง่ายเนื่องจากเกาะกลางไม่สูงและไม่กว้างมากนัก และเกาะกลางค่อนข้างกว้าง ทำให้มีพื้นที่ก่อสร้างช่องจราจรเพื่อกลับรถ
2. ทางหลวงในเขตชุมชนแบบไม่มีทางเท้า ที่ปรึกษาได้กำหนดรูปแบบทางหลวงรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาคัดเลือกรูปแบบที่เหมาะสม โดยแยกพิจารณาเปรียบเทียบ 3 รูปแบบ ดังนี้
รูปแบบที่ 1 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบเกาะยก (Raised Median)
รูปแบบที่ 2 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต (Barrier Median)
รูปแบบที่ 3 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบเกาะสี (Painted Median)
ซึ่งจากผลการพิจารณา รูปแบบที่เหมาะสม คือ รูปแบบที่ 1 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบเกาะยก (Raised Median) ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร จำนวน 4 ช่องจราจร (ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) ไหล่ทางด้านนอกกว้างข้างละ 2.50 เมตร ความกว้างเกาะกลาง 5.10 เมตร โดยรูปแบบนี้ ทำให้ถนนมีความปลอดภัย เนื่องจากมีการแบ่งแยกทิศทางการจราจรแยกออกจากกันด้วยเกาะกลาง การเดินทางรวดเร็วยิ่งขึ้นและรถยนต์สามารถใช้ความเร็วสูงได้อย่างต่อเนื่อง ประชาชนเดินข้ามถนนง่ายเนื่องจากเกาะกลางไม่สูงและไม่กว้างมากนัก และเกาะกลางค่อนข้างกว้าง ทำให้มีพื้นที่ก่อสร้างช่องจราจรเพื่อกลับรถ
3. ทางหลวงนอกเขตชุมชน แยกพิจารณาเปรียบเทียบ 3 รูปแบบ ดังนี้
รูปแบบที่ 1 ทางหลวง 2 ช่องจราจร เกาะกลางแบบเกาะสี (Painted Median)
รูปแบบที่ 2 ทางหลวง 2 ช่องจราจร เกาะกลางแบบเกาะสีตีเส้นทึบคู่/เส้นประ (Painted Median)
รูปแบบที่ 3 ทางหลวง 2 ช่องจราจร เกาะกลางแบบเกาะยก (Raised Median)
ซึ่งจากผลการพิจารณา รูปแบบที่เหมาะสม คือ รูปแบบที่ 2 ทางหลวง 2 ช่องจราจร เกาะกลางแบบเกาะสีตีเส้นทึบคู่/เส้นประ (Painted Median) ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร จำนวน 2 ช่องจราจร (ทิศทางละ 1 ช่องจราจร) ไหล่ทางด้านนอกกว้างข้างละ 2.50 เมตร ความกว้างเกาะกลาง 0.30 เมตร เนื่องจากทางหลวงรูปแบบนี้ไม่มีเกาะกลางกั้นอย่างถาวร ดังนั้นการข้ามไป-มาของรถทำได้ทุกจุดอย่างสะดวก ราคาถูกกว่ารูปแบบอื่น ใช้พื้นที่ก่อสร้างน้อยกว่ารูปแบบอื่น
4. ทางหลวงในเขตภูเขาสูงชัน แยกพิจารณาเปรียบเทียบ 3 รูปแบบ ดังนี้
รูปแบบที่ 1 ทางหลวง 2 ช่องจราจร เกาะกลางแบบเกาะสี (Painted Median)
รูปแบบที่ 2 ทางหลวง 2 ช่องจราจร เกาะกลางแบบเกาะสีตีเส้นทึบคู่ (Painted Median)
รูปแบบที่ 3 ทางหลวง 2 ช่องจราจร เกาะกลางแบบเกาะสี (Painted Median)
ซึ่งจากผลการพิจารณา รูปแบบที่เหมาะสม คือ รูปแบบที่ 2 ทางหลวง 2 ช่องจราจร เกาะกลางแบบเกาะสีตีเส้นทึบคู่/เส้นประ (Painted Median) ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร จำนวน 2 ช่องจราจร (ทิศทางละ 1 ช่องจราจร) ไหล่ทางด้านนอกกว้างข้างละ 2.50 เมตร ความกว้างเกาะกลาง 0.30 เมตร เนื่องจากทางหลวงรูปแบบนี้ไม่มีเกาะกลางกั้นอย่างถาวร ดังนั้นการข้ามไป-มาของรถทำได้ทุกจุดอย่างสะดวก ราคาถูกกว่ารูปแบบอื่น ใช้พื้นที่ก่อสร้างน้อยกว่ารูปแบบอื่น
สำหรับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ สำรวจและเก็บตัวอย่างด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาประกอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โดยมีประเด็นที่ศึกษาครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดลอมทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งจะนำไปศึกษาต่อในขั้นรายละเอียด (EIA) เพื่อเตรียมกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป
ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาและรายละเอียดของโครงการให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โดยมีกำหนดจัดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 ในช่วงประมาณเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2568 และกำหนดจัดประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) ในช่วงประมาณเดือนประมาณเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2568 เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาในทุกด้านให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่ เว็บไซต์ www.1095แม่นาเติง-แม่ฮ่องสอน.com หรือ Line Official : @026isfwo
ว่าที่ร้อยตรี ยอดเพ็ชร คำแสงดี ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า หากการก่อสร้างทางหลวงใหม่นี้แล้วเสร็จจะส่งผลดีต่อระบบการคมนาคม จากเชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน ให้ดีขึ้นเนื่องจากทางหลวงที่จะสร้างใหม่ เป็นทางหลวงที่ได้มาตรฐานและมีการตัดโค้งต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นออกไป ทำให้ยานพาหนะวิ่งได้สะดวกและใช้เวลาได้เร็วมากว่าเดิม อีกทั้งจะทำให้ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดอีกด้วย
————————————–
ทศพล / แม่ฮ่องสอน
Share this content: