จังหวัดพังงา เชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้เข้าเจรจาไกล่เกลี่ย แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
วันที่ 14 มกราคม 67 ที่หอประชุมจำปูน ศาลากลางจังหวัดพังงา นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวเปิดกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้” จังหวัดพังงา โดยมีนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อให้ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้เจรจาตกลงกัน ร่วมหาทางออกให้เป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย
ซึ่งวันนี้ได้เชิญเจ้าหนี้พร้อมลูกหนี้จากอำเภอเมืองพังงา อำเภอทับปุด และอำเภอตะกั่วทุ่ง มาทำการเจรจาไกล่เกลี่ยกันร่วมแก้ปัญหาด้วยกันโดยมีนายอำเภอและเจ้าหน้าที่เป็นคนกลาง มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งส่วนราชการ และธนาคาร ร่วมออกบูท เช่น การให้คำแนะนำด้านอาชีพเสริม ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ให้คำปรึกษาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ร่วม 15 หน่วยงาน ส่วนอำเภออื่นอีก 5 อำเภอ ที่อยู่ห่างไกลตัวจังหวัด ได้เปิดการเจรจาประนอมหนี้กัน ณ ที่ว่าการอำเภอ เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวก ลดระยะเวลาการเดินทาง
โดยจังหวัดพังงา มีผู้ลงทะเบียนด้วยตนเอง ณ ที่ว่าการอำเภอ และในระบบออนไลน์ จำนวน 454 ราย มีมูลหนี้สูงเกือบ 28 ล้านบาท และได้กำหนดจัดเดือนละ 1 ครั้ง หมุนเวียนไปตามอำเภอต่าง ๆ ณ ที่ว่าการอำเภอ เพื่อให้บริการประชาชน และอำนวยความสะดวกต่อไป
รัฐบาลได้ประกาศให้ “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบระดับจังหวัด และระดับอำเภอ พร้อมเร่งรัดให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด อำเภอ ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบที่ได้แจ้งเรื่องร้องเรียนไว้แล้วให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว รวมทั้งจัดชุดสายตรวจประชาสัมพันธ์และดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกันการกระทำผิดกฎหมายแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากหนี้นอกระบบนอกจากนั้น ได้ให้จังหวัดร่วมกับตำรวจภูธรจังหวัดในการเจรจาไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นไปตามแนวทางซึ่งกฎหมายกำหนด อีกทั้งใช้กลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำงานเชิงรุกในการติดตามลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย โดยเฉพาะการเร่งติดตามรายละเอียดข้อมูลของลูกหนี้ ซึ่งลงทะเบียนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่ยังมีรายละเอียดในสาระสำคัญไม่ครบถ้วน และประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทรายที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เกิดการสร้างการรับรู้และสร้างความอบอุ่นใจแก่ประชาชน
ในส่วนกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้” กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้จังหวัดเป็นหน่วยงานหลัก ในการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด เช่น ตำรวจภูธรจังหวัด สำนักงานคลังจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานยุติธรรมจังหวัด หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงธนาคารของรัฐในพื้นที่ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อเข้าร่วมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และเจ้าหนี้ตามอำนาจหน้าที่