จ.หนองคาย- ปัญหาทรายนำเข้าใครได้ประโยชน์ มีผู้ประกอบการสัมปทานบ่อทราย ตาม มาตรา 9 ราย 1 ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนให้เป็นสื่อกลาง สื่อถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องตรวสอบกรณีเกี่ยวกับผู้ประกอบการท่าทรายนำเข้าเชื่อว่าทำผิดกฎหมาย ขอให้ตรวจสอบอย่างจริงจังให้เกิดความชัดเจน เพื่อประโยชน์ชาติ


วันที่ 6 ก.พ.67 จังหวัดหนองคาย เกิดมีคำถาม จาก ปชช.และผู้ประกอบการสัมปทานบ่อทราย ตาม มาตรา 9 บางราย ถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง ให้ตรวจสอบหลายครั้งแต่ยังไม่เกิดความชัดเจน และมีมาตราฐานการประกอบการของธุรกิจดูดหิน ทราย หลังจาก ศุลกากรหนองคาย ได้ประชุมแนวทางการปฎิบัติในการพิจารณาให้มี การนำเข้าหิน กรวด ทรายแม่น้ำโขง จาก สปป.ลาว เมื่อ 13 ม.ค. 64 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมด่านศุลกากรหนองคาย อ.เมือง จ.หนองคาย และเกิดปัญหาการร้องเรียนเรื่อยมา ซึ่งผู้ประกอบการท่าทรายในพื้นที่ชายแดน จังหวัดหนองคาย มี 2 ประเภท คือผู้ประกอบการตามมาตรา 9 ดูดในพื้นที่ไทย และประเภทที่ 2 ขออนุญาตดูดหิน ทราย นำเข้า จาก สปป.ลาว
ปัจจุบัน (6 ก.พ.67) การดูดทรายตามลำแม่น้ำโขงและการนำเข้าทรายจาก สปป.ลาว จังหวัดหนองคาย มีผู้ประกอบการนำเข้าทรายจาก สปป.ลาว เป็นการนำเข้านอกทางอนุมัติตาม มาตรา 84 วรรค 2 จำนวน 2 ราย คือ อ.โพนพิสัย และ อ.สังคม ผู้ประกอบการดูดทรายตาม มาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จำนวน 10 ราย ที่สามารถเปิดทำการได้ตามกฎหมาย และอีกจำนวนหนึ่งไม่สามารถทำการได้ และปิดตัวลง อาจหมดไปในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากจังหวัดหนองคาย มีการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากข้อตกลงในการประชุมไทย-ลาว ที่เมืองพัทยา ปี พ.ศ.2551 การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง ข้อตกลง ทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการดูดทรายตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง โดยให้พื้นที่ดูดทรายต้องมีระยะห่างจาก สะพาน เขื่อนป้องกันตลิ่ง ท่าเรือ โรงพยาบาล โรงแรม สิ่งก่อสร้างที่สำคัญอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 1,000 เมตร และอยู่ห่างจากบ้าน ศาสนสถาน และโรงเรียน ไม่น้อยกว่า 500 เมตร
ซึ่งผู้ประกอบการสัมปทานบ่อทราย ตาม มาตรา 9 ราย 1 ไม่เห็นด้วยและไม่จำเป็นที่ต้องนำทรายเข้ามาจาก สปป.ลาว เนื่องจากประเทศไทยมีทรายเป็นจำนวนมาก อาจสร้างความเสียหารระดับประเทศได้ จริงแล้วต้องไปแก้ ข้อตกลงทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการดูดทรายตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง ในการประชุมไทย-ลาว ที่เมืองพัทยา ปี พ.ศ.2551 ให้ผู้ประกอบการสัมปทานบ่อทราย ตาม มาตรา 9 สามารถดูดทรายได้ ทรายจะไม่ขาดแคลนและราคาถูกกว่าทรายนำเข้า
ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 67 (เวลา10.30 น.) ที่ผ่านมา นายอภิเดช หาญธรรม ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาหนองคาย ,เจ้าหน้าที่ศุลกากรหนองคาย และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ร่วมตรวจท่าทราย แห่งหนึ่งพื้นที่ บ้านปากโสม หมู่ที่ 2 ตำบลผาตั้ง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย หลังได้มีผู้ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน ว่าทรายที่นำเข้าจาก สปป.ลาว ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจาก สปป.ลาว ฝั่งตรงข้ามไม่ปรากฏมีท่าทราย คงพบมีแต่ดอน/สันทรายขึ้นกลางแม่น้ำโขง ส่วนทรายที่ขุดลอกร่องน้ำทำทางเดินเรือ เชื่อว่าไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบความถูกต้องและชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางปฎิบัติของผู้ประกอบการรายอื่น
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 ( เวลาประมาณ 10.30 น.) ที่ ผ่านมา นายอภิเดช หาญธรรม ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาหนองคาย ,ฉก.ทพ.2110 ฉก.ทพ.21 ขณะออกปฎิบัติหน้าที่ลาดตระเวน ในการเฝ้าระวังการทำผิดกฎหมายตามแนวชายแดน และสื่อมวลชน ได้ร่วมตรวจ ในครั้งนั้น และมาตรวจซ้ำในครั้งนี้
จากการตรวจสอบครั้งนี้ (30 ม.ค.67) ได้มีผู้ประกอบการฯ ได้นำเจ้าหน้าที่และผู้สื่อข่าวเดินดูพื้นที่ ก็พบมีกองทรายจำนวนหนึ่งกองอยู่บริเวณบนฝั่งแม่น้ำโขง โดยได้ปักป้ายที่ 1 มีข้อความ ว่า “กองวัสดุขุดร่องน้ำทางเดินเรือ” และป้ายที่ 2 มีข้อความว่า “ กองวัสดุทรายนำเข้า” ไว้หน้ากองทราย และพบรถแม็คโฮ จำนวน 3 คัน และรถตัก 1 คัน รถบรรทุก 10 ล้อ 2 คัน จอดอยู่ในบริเวณ เรือเปล่าสำหรับบรรทุกทราย 1 ลำ จอดอยู่ริมฝั่ง และเรือดูดทราย (ขุดร่องน้ำทำทางเดินเรือ ) จำนวน 2 ลำ จอดอยู่กลางแม่น้ำโขง ฝั่งประเทศไทย ห่างฝั่งประมาณ 120 เมตร เพื่อสำหรับดูด/ขุดทรายร่องน้ำทางเดินเรือ เพื่อนำเรือออกไปบรรทุกทรายจากฝั่ง สปป.ลาว แล้วนำกลับเข้ามาฝั่งไทย
นายอภิเดช หาญธรรม ผอ.สำนักงานเจ้าท่า ภูมิภาค สาขาหนองคาย กล่าวว่า จังหวัดหนองคาย ได้มีการอนุญาตตามมาตรา 9 ประมาณ 10 ที่ ส่วนการขุดลอกหน้าเทียบเรือมี 1 ที่ คือที่ อำเภอสังคม ซึ่งการอนุญาตขุดลอกเป็นไปตาม ระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต ให้ขุดลอกร่องน้ำทางเรือเดินบริเวณหน้าท่าเทียบเรือ พ.ศ. 2556 ตัวขุดลอกจะต้องไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและกฎหมาย การอนุญาตแต่ละครั้งไม่เกิน 6 เดือน สำหรับทรายที่บริเวณหน้าท่าเทียบเรือ ได้เน้นย้ำผู้ประกอบการให้นำทรายมากองไว้ใกล้บริเวณขุดลอก ห้ามเคลื่อนย้าย ห้ามนำทรายออกนอกพื้นที่และห้ามจำหน่าย เว้นนำไปใช้ในสาธารณะประโยชน์ เช่น โรงเรียน วัด ผู้ประกอบการฯ ต้องจดคิว มีหนังสือขอรับบริจาคให้ชัดเจน ถ้าเป็นการจำหน่ายทรายที่ขุดลอก เมื่อตรวจสอบปริมาณทรายไม่สอดคล้องไม่ถูกต้องตามที่แจ้งไว้ ก็เป็นการทำผิดตามระเบียบ สำหรับ การขออนุญาตนำทรายเข้านั้น เป็นตามระเบียบพิธีการศุลกากร ส่วนการนำเรือเข้า -ออก ทั้งเรือที่ดูดทรายและขุดทรายที่จะนำเข้าจาก สปป.ลาว จะต้องแจ้งทางเจ้าท่า ทราบ ทุกครั้ง
ด้าน จนท.ศุลกากร หนองคาย กล่าวว่า การมาตรวจครั้งนี้มาตรวจประจำโดยหน้าที่ ดูการประกอบกิจการซึ่งจะมีการจัดเวรในการมาตรวจ ซึ่งวันนี้ได้มาตรวจดูการทำงานว่าได้ประกอบกิจการเรื่องทำทรายที่ทำการดูดทรายนี้เป็นหลักเพราะเป็นทรายนำเข้าศุลกากรจึงมาตรวจเนื่องจาก ศุลกากร ทำเรื่องนำเข้าส่งออกอยู่แล้ว การมาตรวจครั้งนี้ ถือว่าเรียบร้อยดี
ส่วนผู้ประกอบการท่าทราย/นำเข้า กล่าวว่า เรายืนยันว่าท่าทรายของเราทำถูกต้องทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ การขุดทรายตรงนี้คือจะมีการนำเข้าและมีการขุดลอก การนำเข้าคือ นำเข้ามาจาก ประเทศลาว การขุดลอกคือวันที่เราไม่ได้ทำนำเข้า ทำการขุดลอกเพื่อเปิดทางเดินเรือ ทรายที่ได้มาจากการขุดลอก เราก็จะนำมากองไว้ คือเป็นกองวัสดุขุดร่องทางเดินเรือ เรากองเอาไว้เพื่อที่ใครต้องการทรายบริจาค หรือทำสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ สามารถนำรถเข้ามารับได้ ส่วนทรายที่นำเข้าเรากองแยกไว้ต่างหาก เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้า
สำหรับ ผู้ประกอบการสัมปทานบ่อทราย ตามมาตรา 9 กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการนำเข้าทรายจาก สปป.ลาว ไม่ถูกต้อง และการนำทรายที่ขุดร่องน้ำทางเดินเรือ ออกไปจากพื้นที่ซึ่งตามระเบียบกรมเจ้าท่ากำหนด ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมายและระเบียบ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับจังหวัดและส่วนกลางตลอดถึงหน่วยงานความมั่นคง ได้ตรวจสอบอย่างจริงจังให้มีความชัดเจน เพื่อรักษาประโยชน์ของชาติ เนื่องจากทรายนำเข้าไม่ต้องชำระภาษี ชำระเพียงภาษีแวต 7 % เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระดับประเทศ ในอนาคตได้ แลไม่ะมีความจำที่ต้องนำเข้า เนื่องจากภายในประเทศทรายมีเพียงพอไม่ขาดแคลนและราคาถูกกว่าทรายนำเข้า ควรยกเลิกการขุดลอกและการนำเข้าทราย เพื่อรักษาประโยชน์ชาติ // ฤาษีลภ-มนเดช จังหวัดหนองคาย