นายอำเภอกระนวน และสาธารณสุขอำเภอกระนวน เยี่ยมติดตามพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด 11 ราย ในพื้นที่ 3 ตำบล พบหายป่วย 7 คน และดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคลที่กลับมาเสพซ้ำ และก่อความเดือดร้อนในชุมชน

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลาประมาณ 09.00 – 16.00 น. นายคเณศวร เกษอินทร์ นายอำเภอกระนวน นายภาวิช บุญภัทดอนซุยแป ปลัดอำเภออาวุโส นายพงษ์ศักดิ์ ทรัพย์ศิลาทอง สาธารณสุขอำเภอกระนวน นายปรัชญาวุฒิ ทองภูธร ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอ นำกำลังสมาชิก อส. พร้อมด้วย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และ อสม. เดินทางเยี่ยมเยียนติดตามความเป็นอยู่ ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู จำนวน 11 ราย ในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองโก ตำบลน้ำอ้อม และ ตำบลห้วยโจด พบว่าสามารถใช้ชีวิตในชุมชนแบบปกติไม่กลับไปเสพซ้ำ จำนวน 7 ราย โดยบางส่วนได้ย้ายถิ่นฐานไปทำงานต่างจังหวัด ซึ่งเป็นการเลือกปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ป้องกันไม่ให้ตัวเองกลับไปอยู่ในความเสี่ยงที่จะกลับไปเสพยาเสพติดซ้ำอีก และมี 1 รายที่ปรากฎการเสพซ้ำ และครอบครัวและชุมชนได้ร่วมกันยืนยันพฤติกรรมว่ามีการกระทำหยิบฉวยทรัพย์สินผู้อื่นเพื่อนำไปแลกยาเสพติดซึ่งได้แจ้งความไว้แล้ว จึงได้ควบคุมตัวไปตรวจยืนยันผลที่โรงพยาบาลอีกครั้งก่อนนำตัวดำเนินคดีตามกฎหมาย ฐานเสพยาเสพติดให้โทษผิดกฎหมาย (ยาบ้า)

สำหรับรายที่เลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ได้สอบถามด้านการประกอบอาชีพ และพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพเสริม โดยมี 1 ราย ที่ประสงค์ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยมีความต้องการแหล่งน้ำการเกษตร และ สนับสนุนทางวิชาการ รวมทั้งปัจจัยการผลิต ซึ่งอำเภอกระนวนจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาสนับสนุนฟื้นฟูสภาพทางสังคมต่อไป

นอกจากนี้ อำเภอกระนวนยังร่วมกับชุมชนดำเนินการ Re X-ray เพื่อค้นหาคัดกรองผู้เสพ/ผู้ป่วยในชุมชน ตามฐานข้อมูลของกรมการปกครอง และเบาะแสการสืบสวนข่าว โดยนำเข้าระบบศูนย์คัดกรองเพื่อเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดโครงการบำบัดฟื้นฟูมินิธัญญารักษ์ ควบคู่กับ ศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด หรือ CI เพื่อแก้ไขปัญหาตามการจำแนกลักษณะของผู้เสพ/ผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีรูปแบบดำเนินการโดยใช้ “แนวทางบวร“ หลักธรรมทางศาสนาในการหล่อหลอมจิตใจและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสังคม การพัฒนาตนเอง พัฒนาทักษะอาชีพ ซึ่งเป็นกระบวนการเยียวยาทางจิตใจ ฟื้นฟูสมรรถภาพด้านร่างกายและจิตใจไปด้วยกัน โดยร่วมดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐ ชุมชน รวมทั้ง เครือข่ายในพื้นที่ อาทิ เครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดิน ชมรม TO BE NUMBER ONE เพื่อให้ผู้ป่วยยาเสพติดกลับคืนสู่สังคมอย่างปกติสุข และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

You missed