นบ.ยส.35 แถลงผลการดำเนินงาน ห้วง 6 เดือน

 

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567ณ รร.กรีนเลค รีสอร์ท จ.เชียงใหม่
พลเอกนฤทธิ์ ถาวรวงษ์ ผบ.นบ.ยส.35 พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงฯ ผลการดำเนินงาน ห้วง 6 เดือน ของ นบ.ยส.35
พลเอกนฤทธิ์ ถาวรวงษ์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด
สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ(ผบ.นบ.ยส.35)

 

 

 

ได้เปิดเผยว่า ในห้วงที่ผ่านมามีการจับกุมยาบ้าได้เป็นจำนวนมากในพื้นที่รับผิดชอบ อีกทั้งยังพบว่ากลุ่มขบวนลักลอบขนยาเสพติด ใช้พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย และพื้นที่ข้างเคียงเป็นทางผ่านเพื่อส่ง ไอซ์ และ เฮโรอีน ออกไปต่างประเทศมากขึ้น จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่สำคัญเร่งด่วน และพื้นที่อนุมัติเพิ่มเติม ได้แก่ ตำรวจภูธรภาค 5, ตำรวจภูธรภาค 6, ตำรวจปราบปรามยาเสพติด, กองกำลังผาเมือง, กองกำลังนเรศวร, ผู้ว่าราชการจังหวัด เชียงใหม่, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, พะเยา, น่าน และ ตาก
ปปส.ภาค 5 และ ปปส.ภาค 6 ตลอดจนที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ และ อุตสาหกรรม ร่วมกันพิจารณาหารือ ถึงแนวทางในการขับเคลื่อนงานด้านการสกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติด ได้แก่
การเพิ่มกำลังในพื้นที่ หรือการเพิ่มความถี่ในการปฏิบัติการ ซึ่ง นบ.ยส.35 จะต้องจัดส่วนแยกออกไปดำเนินการ ประสานการทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้ง 6 จังหวัด18 อำเภอ ให้บรรลุ
ตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล


นอกจากนี้ นบ.ยส.35 ยังมุ่งเน้นการประสาน และหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการส่งหมายจับของผู้ต้องหา เพื่อขอความร่วมมือในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับมารับโทษ ซึ่งจะต้องขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน ให้ประโคมข่าวผู้ต้องหาหลบหนีข้ามแดน ก็จะเป็นการกดดันหน่วยงานที่รับผิดชอบในประเทศเพื่อนบ้านได้เร่งรัดและให้ความสำคัญ จากกระแสสื่อสังคมอีกทางหนึ่ง


การประชุมในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะในเรื่องของการประสานงาน และการบูรณาการ การปฏิบัติในระดับพื้นที่ หน่วยที่มาประชุมได้ ร่วมพิจารณาการนำเสนอข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะต่างๆ อันนำไปสู่แนวทางในการปรับปรุงพัฒนาการปฏิบัติ เพื่อลดระดับความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ ให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป

ทั้งนี้จากนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน 11 อำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย (อำเภอเวียงแหง, เชียงดาว, ฝาง, ไชยปราการ, แม่อาย, แม่จัน, แม่ฟ้าหลวง, แม่สาย, เชียงแสน,
เวียงแก่น และ เชียงของ) ตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาร่วม 6 เดือน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้องมีการสกัดกั้นยาเสพติดอย่างเด็ดขาดและต่อเนื่อง
โดยทาง นบ.ยส.35 แถลง ผลการปฏิบัติการสกัดกั้น คือ เหตุการณ์สำคัญ 74 เหตุการณ์ โดยมีการปะทะกับกลุ่มขบวนการ 30 ครั้ง ตรวจยึด/จับกุม 40 ครั้ง และขยายผลยึดทรัพย์ 4 ครั้ง ตรวจยึดยาบ้ารวม 129 ล้านเม็ดเศษ, ไอซ์ 1,890 กก., เฮโรอีน 249 กก., ฝิ่นดิบ 188 กก. จับกุมผู้ต้องหา 1,507 ราย กลุ่มขบวนการเสียชีวิต 25 ศพ

 

 


ในปัจจุบัน รัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้ายาเสพติดในทุกพื้นที่ชายแดนของประเทศ ให้เห็นผล และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และมติ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 เห็นชอบให้เพิ่มพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในพื้นที่ชายแดนภาคเหนืออีก 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปาย และปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน, อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย, อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา, อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน และ อำเภอแม่สอด, อำเภอพบพระ จังหวัดตาก