ผู้ว่าฯนครพนม ตรวจเยี่ยมและศึกษาเรียนรู้ระบบธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง เพื่อเป็นต้นแบบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ นำไปดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

วันที่ 8 มิ.ย.67 เวลา 14.00 น.นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายอำเภอเมืองนครพนม และผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและศึกษาเรียนรู้ระบบธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ในจังหวัดนำไปปรับใช้ในพื้นที่ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง โดยมีนายสมบูรณ์ นาคะอินทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้งพร้อมเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการบริหารจัดการระบบธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นผู้บรรยายให้ความรู้ถึงกระบวนการในการดำเนินงานธนาคารน้ำใต้ดินซึ่งมี 8 ขั้นตอน คือ การเก็บข้อมูลพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำชุมชนและภูมิประเทศ การสำรวจและกำหนดทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำระดับชุมชน การเจาะสำรวจชั้นดิน สำรวจธรณีฟิสิกซ์ เพื่อประกอบการประเมินศักยภาพของแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อความคุ้มทุนของโครงการ การดำเนินการก่อสร้างตามรูปแบบที่กำหนดไว้ การออกแบบระบบธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ การวางแผนและกำหนดระบบการเติมน้ำในแผนที่ตำบล การติดตาม ประเมินผล เก็บข้อมูลและการบำรุงรักษาบ่อเติมน้ำ และการสรุปวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค โอกาสและขยายผลโครงการ

สำหรับองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง ได้ดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด มาตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันมีบ่อระบบธนาคารน้ำใต้ดิน 38 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบล สามารถลดปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือลดงบประมาณในการเยียวยาประชาชนที่พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เนื่องจากน้ำจะไหลลงสระในช่วงฤดูฝน และสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้อีกด้วย โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่อยู่ใกล้ระบบธนาคารน้ำใต้ดินสามารถขุดเจาะบ่อบาดาลหรือบ่อน้ำผิวดินที่มีความลึกเพียง 3-5 เมตร ก็จะถึงตาน้ำแล้ว สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้อย่างพอเพียง อย่างไรก็ตามการทำระบบธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิดนั้น ไม่สามารถนำของที่หนึ่งไปใช้กับอีกที่หนึ่งได้ ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ การขุดสระและเจาะสะดือสระเพื่อเติมน้ำลงใต้ดินของแต่ละพื้นที่มีความลึกไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับชั้นดินของแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องขุดให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำหรือหินตับม้า เพื่อให้น้ำไหลซึมลงไปอยู่ในร่องหินได้ จึงมีการเจาะสำรวจดินก่อนที่จะขุดสระเพื่อวิเคราะห์ก่อน หรืออาจเปรียบเทียบได้ว่า “ระบบธนาคารน้ำใต้ดิน ไม่ใช่เสื้อโหล ที่ตัดแล้วทุกคนเอาไปใส่ได้” แต่ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ต้องดำเนินการให้ครบทั้ง 8 ขั้นตอน../////////
ส.ปชส.นครพนม ภาพ/ข่าว