ศรีสะเกษ – ชลประทานศรีสะเกษ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน ชี้ ปริมาณน้ำในพื้นที่สามารถรองรับมวลน้ำได้เพียงพอ

วันที่ 2 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่โครงการชลประทานศรีสะเกษ อำเภอเมืองฯ จังหวัดศรีสะเกษ นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ปีนี้ฝนตกชุกและปริมาณน้ำฝนมากกว่าทุกปีในรอบ 30ปี โดยค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนประมาณ 1400 – 1600 ลบ.ม.ต่อปี ขณะเดียวกันจะเกิดฝนตกหนักในช่วงเดือนกันยายน แต่ปีนี้ฝนเริ่มตกชุกช่วงปลายเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ทำให้ขณะนี้เขื่อนใหญ่ทั้ง 2 แห่ง คือ เขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา มีน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 65 ซึ่งถือว่ายังรองรับปริมาณน้ำได้อีกจำนวนมาก ซึ่งสำหรับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่งนั้น พบว่า อ่างเก็บน้ำ จำนวน 3 แห่ง ที่มีความจุเกินเก็บกัก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยขนุน ,อ่างเก็บน้ำห้วยตามาย อำเภอกันทรลักษ์ และ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็ม อำเภอราษีไศล ขณะที่อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำกักเก็บเกินร้อยละ 70 มีทั้งหมด 3 อ่าง ซึ่งฝนที่ตกชุกดังกล่าว ส่งผลทำให้มีปริมาณกักเก็บน้ำเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเป็นจำนวนมากในช่วงนี้ ซึ่งทางโครงการชลประทานศรีสะเกษเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ เปิดเผยอีกว่า จากการสำรวจพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำสายหลัก ทั้งลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำห้วยสำราญ และ ลุ่มน้ำห้วยทับทัน ช่วงนี้พบว่าปริมาณน้ำน้อยอยู่ ถือว่าสามารถรองรับปริมาณน้ำเพิ่มได้อีกจำนวนมาก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม โครงการชลประทานศรีสะเกษคงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากพบว่ามีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น จะได้แจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบอย่างเร่งด่วนต่อไป///////

ภาพ/ข่าว จิรภัทร หมายสุข ศรีสะเกษ โทรศัพท์ 088-590-4090

 

You missed