กพฐ.ร่วมมือตร.แพร่ตรวจจุดเสี่ยงเด็กทำร้ายกัน
หน่วยงานการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จับมือ ตำรวจ ตรวจ 18 จุดเสี่ยงในจังหวัดแพร่ หลังนักเรียนหญิง ม.2 โรงเรียนในจังหวัดแพร่ ถูกทำร้ายร่างกาย-รีดไถเงิน กำชับโรงเรียนเคร่งครัดมาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัย หากผู้ปกครองพบเหตุความไม่ปลอดภัยของบุตรหลาน แจ้งได้ที่ ศสป.สพท.ทั่วประเทศ หรือ ที่ ศปส.สพฐ.
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากกรณีนักเรียนหญิงชั้น ม.2 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดแพร่ ถูกวัยรุ่นหญิงทำร้ายร่างกายและรีดไถเงิน บริเวณท่าน้ำในอำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ นั้น ทางโรงเรียนได้ติดตามดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างใกล้ชิด ทั้งด้านการเรียน สุขภาพกาย สุขภาพจิต และด้านคดีความ โดยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแพร่ พร้อมด้วยผู้บริหารโรงเรียนของนักเรียนที่ถูกทำร้าย นิติกร และนักจิตวิทยา ได้ลงพื้นที่สำนักงาน ตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ เพื่อหารือกับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ ในเรื่องของคดีความและการป้องกันเหตุในจังหวัดแพร่ โดยได้ข้อสรุปการดูแลนักเรียนร่วมกันในแนวทางต่างๆ ดังนี้ 1. แนวทางในการช่วยเหลือด้านคดีความที่เกิดขึ้นในพื้นที่
2. แนวทางในการบำบัดรักษาของผู้กระทำผิดและผู้ถูกกระทำ
3. แนวทางการป้องกันเหตุในพื้นที่จังหวัดแพร่ โดยได้บูรณาการกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ทำกิจกรรมเฝ้าระวังเหตุและสร้างความปลอดภัย kick off สุ่มตรวจพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดแพร่ โดยขอความร่วมมือพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียน (พสน.) ทุกโรงเรียนร่วมลงพื้นที่ สุ่มตรวจพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดแพร่
4. กำหนดแผนลงตรวจ 18 จุดเสี่ยงร่วมกับสถานีตำรวจในพื้นที่ ทั่วจังหวัดแพร่ ทั้งในเวลากลางคืน และเวลากลางวัน
“ทั้งนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะทำงาน รมว.ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความห่วงใยเรื่องความปลอดภัยของนักเรียน ทั้งในและนอกสถานศึกษา ซึ่งผมขอกำชับให้ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา เฝ้าระวังความปลอดภัยของนักเรียน โดยดำเนินการตามมาตรการและแผนเผชิญเหตุด้านความปลอดภัยของสถานศึกษาอย่างเข้มงวดและเคร่งครัด หากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันอีก ให้รายงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และรายงาน สพฐ. ทราบทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการช่วยเหลือเยียวยานักเรียนได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ หากผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไป พบเห็นหรือกังวลในความไม่ปลอดภัยของบุตรหลาน สามารถร้องเรียนได้ที่ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ศสป.สพท.) ทุกเขตพื้นที่ฯทั่วประเทศ หรือ ร้องทุกข์มาที่ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ศสป.สพฐ.) โทร. 0-2123-8789 พร้อมที่จะรับเรื่องร้องเรียนทุกกรณี”
————————————
ทศพล / แม่ฮ่องสอน 0850309987