จังหวัดน่าน ชูสโลแกน “อวดเมืองน่าน” พลังแห่งวัฒนธรรมและธรรมชาติ สู่การขับเคลื่อน Soft Power ไทยด้านการท่องเที่ยวเพื่อจุดพลังการท่องเที่ยวไทย


น่าน ชูสโลแกน “อวดเมืองน่าน” พลังแห่งวัฒนธรรมและธรรมชาติ สู่การขับเคลื่อน Soft Power ไทยด้านการท่องเที่ยวเพื่อจุดพลังการท่องเที่ยวไทย
เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 ที่ห้องประชุม ร้านผ้าน่านบุรี ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน นายเทวา ปัญญาบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานการจัดประชุมโครงการจัดทำแผนยกจังหวัดน่านเป็นต้นแบบ Soft Power ด้านการท่องเที่ยว เพื่อจุดพลังการท่องเที่ยวไทย โดยโครงการนี้จัดขึ้นโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมทั้งมีสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินโครงการ ซึ่งได้จัดจ้างที่ปรึกษาจากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ปฏิบัติงานตามโครงการนี้ โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมฯ

โครงการฯ อยู่ภายใต้การจัดทำแผนขับเคลื่อน Soft Power ในมิติด้านการท่องเที่ยว เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ทั้งนี้ยังมุ่งหวังให้เกิดการผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ เพิ่มมูลค่าให้กับสถานที่ท่องเที่ยว ยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ผ่านการเชื่อมโยงศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตในแต่ละพื้นที่เข้ากับการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าและความน่าสนใจในการท่องเที่ยวระดับจังหวัดอย่างยั่งยืน

การผลักดันศักยภาพเชิงพื้นที่ในจังหวัดน่าน ด้วยอัตลักษณ์ วิถีชีวิต วิถีชุมชน ความเชื่อ และศิลปวัฒนธรรม ที่สามารถต่อยอดเป็น Soft Power เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ผ่านกลไกของแผน Soft Power ด้านการท่องเที่ยว ที่จะใช้เป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสามารถนำไปปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพื้นที่เป้าหมายของโครงการฯ มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการขับเคลื่อนแผน Soft Power ด้านการท่องเที่ยวรวม 55 จังหวัดทั่วประเทศ

ในที่ประชุมฯ ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนหรือโครงการที่หน่วยงานต่าง ๆ กำลังดำเนินการเพื่อส่งเสริม Soft Power ด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการสนับสนุนและการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับหน่วยงานรัฐและเอกชน ในการพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ด้าน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวลี แก้วช่วย หัวหน้าโครงการวิจัย และ ดร.ธนพัฒน์ ภคชัยวิศิษฏ์ ผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่า จังหวัดน่านเป็นหนึ่งใน 55 จังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกในโครงการขับเคลื่อน Soft Power ซึ่งครอบคลุมทั้ง 6 ภูมิภาคของประเทศไทย โดยจังหวัดน่านในภาคเหนือนั้นมีความโดดเด่นในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมที่ล้ำค่าและธรรมชาติที่งดงาม ภาพลักษณ์เหล่านี้มักจะถูกโปรโมตผ่านการรีวิวและสื่อโฆษณาต่าง ๆ เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณที่วัดภูมินทร์ ซึ่งกลายเป็นจุดขายสำคัญที่สะท้อนเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน

การพัฒนาแผนเชิงลึกที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อน Soft Power โดยมีเป้าหมายในการสร้างจุดขายที่โดดเด่นเพื่อโปรโมตจังหวัดน่าน เนื่องจากน่านมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนอยู่แล้ว จึงเป็นเพียงเรื่องของการเลือกว่าจะเน้นโปรโมตด้านใดเป็นพิเศษ การประชุมและการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะสรุปว่าควรเน้นโปรโมตเรื่องใดเป็นโครงการหลักที่จะสามารถดึงดูดความสนใจและทำให้ผู้คนจำได้ว่า “นี่คือน่าน”/บุญยงค์ สดสอาด นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดน่าน รายงาน