กรมทางหลวง สรุปผลการศึกษาสร้างสะพานปากนาย ข้ามเขื่อนสิริกิติ์
ส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยว รองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

วันนี้ (20 กันยายน 2567) เวลา 13.30 น. ณ หอประชุมโรงเรียนนาหมื่นพิทยาคม อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน
กรมทางหลวงได้จัดการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (การสัมมนา ครั้งที่ 3) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบสะพานปากนายข้ามเขื่อนสิริกิติ์ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์-อ.นาหมื่น จ.น่าน เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาทุกด้านของโครงการ ให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ นำมาประกอบพิจารณาปรับปรุงผลการศึกษาให้มีความเหมาะสมต่อไป โดยได้รับเกียรติจาก นายเทวา ปัญญาบุญ
รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดการประชุม โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม
การจัดประชุมในครั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาโครงการ ได้นำเสนอสรุปผลการศึกษาโครงการ โดยมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้ แนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณกม.100+238 ของทางหลวงหมายเลข 1339 ตอน อ.น้ำปาด – บ้านปากนาย ในพื้นที่ ต.ท่าแฝก อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติลําน้ำน่าน ข้ามเวิ้งของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ด้วยโครงสร้างสะพานยาว 346 เมตร ต่อเนื่องด้วยคันทางในเขตอุทยานแห่งชาติลําน้ำน่านอีก 186.50 เมตร โดยมีรูปแบบถนนขนาด 2 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ความกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านในและด้านนอกกว้าง 1.00 เมตร มีเกาะกลางแบบกำแพงหรือราวกั้น (Single-Slope Concrete Median Barrier) จากนั้นจะข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ด้วยโครงสร้างสะพานที่มีความยาว 1,139 เมตร มีขนาดช่องจราจร 2 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ความกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.00 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร มีเกาะกลางแบบกำแพงหรือราวกั้น (Single-Slope Concrete Median Barrier) และมีทางเท้ากว้างข้างละ 1.50 เมตร ซึ่งในอนาคตเมื่อมีปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นสะพานนี้สามารถขยายเป็น 4 ช่องจราจร ได้โดยไม่ต้องก่อสร้างสะพานใหม่ จากนั้นแนวเส้นทางโครงการจะลดระดับเข้าเชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 1026 ตอน บ.ปากนาย – อ.นาหมื่น บริเวณ กม.75+400 ในพื้นที่ตำบลนาทะนุง อ.นาหมื่น จ.น่าน รวมระยะทางทั้งสิ้น 2,390 เมตร นอกจากนี้ได้ออกแบบจุดชมวิวบนสะพานอยู่บริเวณกึ่งกลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ โดยนักท่องเที่ยวสามารถจอดรถได้ที่จุดจอดรถบริเวณเชิงสะพานทั้งฝั่งอุตรดิตถ์ และฝั่งน่าน
สำหรับการออกแบบจุดกลับรถใต้สะพาน มีจำนวน 2 จุด ดังนี้ 1. จุดกลับรถใต้สะพาน บริเวณทางหลวงหมายเลข 1339 ฝั่งจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยออกแบบทางบริการขนาด 2 ช่องจราจร เดินรถ 2 ทิศทาง ขนาดช่องจราจรละ 3.50 เมตร มีความสูงช่องลอดบริเวณใต้สะพาน 3.00 เมตร 2. จุดกลับรถใต้สะพาน บริเวณทางหลวงหมายเลข 1026 ฝั่งจังหวัดน่าน โดยออกแบบทางบริการฝั่งขวาทางขนาด 2 ช่องจราจร เดินรถ 2 ทิศทาง ขนาดช่องจราจรละ 3.00 เมตร และออกแบบทางบริการฝั่งซ้ายทางขนาด 1 ช่องจราจร เดินรถทิศทางเดียว ขนาดช่องจราจร 4.00 เมตร มีความสูงช่องลอดบริเวณใต้สะพาน 5.50 เมตร รองรับความสูงของรถยนต์ทุกประเภท ส่วนจุดกลับรถฉุกเฉิน โดยกำหนดไว้ที่บริเวณ กม.1+077 และ 1+379 บนสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ มีลักษณะเป็น Steel Sliding Barrier สำหรับกู้ภัยให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ โครงการได้มีการกำหนดขอบเขตบริเวณที่จะทำการจัดการด้านงานสถาปัตยกรรมและ
ภูมิสถาปัตยกรรม โดยมีแนวคิดในการออกแบบรวมถึงการปรับปรุงพื้นที่จุดจอดรถ พื้นที่จุดชมวิว ราวกันตก และ
งานตกแต่งเสาไฟฟ้าส่องสว่าง ให้สอดคล้องเชื่อมโยงถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดน่าน และจังหวัดอุตรดิตถ์ด้วย
ทั้งนี้ โครงการ ได้ดำเนินการศึกษา และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ ครอบคลุมทุกกิจกรรมการก่อสร้าง พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม
เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรอบโครงการให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
ภายหลังการสัมมนาในครั้งนี้ โครงการจะดำเนินการรวบรวมข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน นำมาพิจารณาประกอบการจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาโครงการให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป ซึ่งกรมทางหลวงมีแผนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างประมาณปี 2570 โดยใช้งบประมาณก่อสร้างโครงการรวมประมาณ 1,750 ล้านบาท และคาดว่าสามารถเปิดใช้บริการได้ประมาณปี 2573 โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้
2 ช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.สะพานข้ามเขื่อนสิริกิตติ์.com 2.Line Official : @290CEZDF (มี @นำ)/บุญยงค์ สดสอาด นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดน่าน รายงาน

You missed