รีคอฟ (RECOFTC) และองค์กรภาคีเครือข่าย ปลุกพลังป่าชุมชน สร้าง “นักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง” เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและรับมือสภาวะโลกรวน

วันที่ 10 ต.ค. 67 น.ส.วรางคณา รัตนรัตน์ ผอ.รีคอฟ แห่งประเทศไทย (RECOFTC) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งสร้างอนาคตที่คนและป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน จับมือเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน ประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่าย อื่นๆ สร้าง “กระบวนการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง” (Citizens’ Forest Master หรือ CF Master) โดยมี น.ส.มาเรีย เผ่าประทาน สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะกรรมาธิการด้านการเกษตรและสหกรณ์ฯ วุฒิสภา นายวัชรินทร์ จันทร์เดช ประธานสภาป่าไม้ภาคพลเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย

นับเป็นก้าวแรกในการยกระดับความสามารถของชุมชนด้านการสำรวจทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพในป่าของตนเองอย่างมีระบบ และนำข้อมูลมาทำแผนการจัดการป่าที่ตอบโจทย์การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญวิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับวิกฤตโลกรวนอย่างไม่อาจแยกออกจากกัน สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล ทรัพยากรพืชและสัตว์ต่างๆ มีปริมาณลดลงไปมากหรือถึงขั้นเสี่ยงสูญพันธุ์ ส่งผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้างโดยเฉพาะชุมชนที่วิถีชีวิตผูกติดกับป่า ไม่ว่าจะเป็นในฐานะแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ และแหล่งรายได้ ป่าเป็นหนึ่งในแหล่งทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุด แต่แม้ภาคป่าไม้ของไทยจะตื่นตัวในการรับมือวิกฤตระดับโลกเหล่านี้ เช่น มีการตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของประเทศพร้อมส่งเสริมการอนุรักษ์ มีการพัฒนาแผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งบูรณาการความร่วมมือทุกหน่วยงานเพื่อปกป้องความหลากหลายทาง ชีวภาพ แต่ชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับป่ากลับยังมีบทบาทจำกัดในการดูแลจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ ทั้งที่ป่าที่ชุมชนร่วมจัดการและใช้ประโยชน์เหล่านี้ล้วนทำหน้าที่เป็นเขตกันชนให้กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์และถือเป็นด่านหน้าในการปกป้องถิ่นที่อยู่ของพืชและสัตว์หลากชนิด

และถึงแม้ว่าพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 จะกำหนดให้ป่าชุมชนทำแผนการจัดการป่าชุมชนเพื่อประกอบการจดทะเบียนป่าชุมชน รวมถึงต้องต่ออายุการขึ้นทะเบียนโดยปรับปรุงแผนการจัดการป่าชุมชนทุก 5 ปีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ชุมชนยังพบความท้าทายในการออกแบบแผนตามบริบทและการนำไปปฏิบัติจริง ตามระเบียบการทำแผนมีการกำหนดให้ชุมชนจัดทำข้อมูลป่าโดยระบุชนิดของพืชและสัตว์ที่พบ ซึ่งป่าชุมชนจำนวนมากยังขาดความรู้และทักษะในการเก็บข้อมูลทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้อย่างเป็นระบบ เช่น การจำแนกชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ที่พบเป็นกลุ่มต่างๆ รวมถึงกลุ่มทรัพยากรที่มี ค่าหรือหายาก การเก็บข้อมูลเชิงปริมาณของทรัพยากรในป่า นอกจากนี้ ชุมชนยังต้องมีทักษะในการประเมินสถานภาพของป่าและทรัพยากรที่มี รวมถึงการวิเคราะห์สถานการณ์ความเสี่ยงต่อการสูญเสียทรัพยากร และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อป่า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนเป็นหัวใจสำคัญสู่การทำแผนการจัดการป่าชุมชนให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละป่า

รีคอฟและองค์กรภาคีเครือข่ายเล็งเห็นความจำเป็นในการพัฒนาคนในป่าชุมชนเหล่านี้ให้เป็นผู้นำที่สามารถพาสมาชิกคนอื่นในชุมชนมาร่วมเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและสร้างแผนการจัดการป่าที่ตอบโจทย์ทั้งด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรและการใช้ประโยชน์ของชุมชนอย่างยั่งยืน จึงได้ริเริ่มกระบวนการ พัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง เพื่อให้ความรู้ ทักษะ และเครื่องมือที่จำเป็นกับชุมชนสำหรับภารกิจดังกล่าว

กระบวนการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองนั้นมุ่งเน้นที่การทำจริงและส่งเสริมการทำงานอย่างมีส่วนร่วมโดยชุมชนเป็นฐาน รีคอฟและสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน ประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาตลอดกระบวนการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก เริ่มจากการเก็บข้อมูลเศรษฐกิจสังคมของชุมชนเพื่อให้เข้าใจบริบทความต้องการในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชน ต่อด้วยการเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อให้ชุมชนมีข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรในป่าและทราบสถานภาพของป่าและทรัพยากรเหล่านี้ และขั้นตอนสุดท้ายคือการทำแผนการจัดการป่าอย่างมีส่วนร่วมทั้งชุมชน โดยอาศัยข้อมูลเกี่ยวทรัพยากรและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรของชุมชนมาออกแบบแผนการจัดการป่าที่นำไปใช้ได้จริง

กระบวนการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองนี้เริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 และเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 ประสบความสำเร็จในการสร้างนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองรุ่นแรก 53 รายจากป่านำร่อง 28 แห่งใน 10 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย รวมถึงป่าชุมชนบ้านม้าร้อง ป่าชายเลนบ้านฝ่ายท่า และป่าพรุบ้านแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่จัดเวทีสมัชชาป่าไม้ภาคพลเมือง เพื่อนำเสนอกระบวนการและความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองเมื่อวันที่ 9-10 ตุลาคม 2567

การขยายผลความสำเร็จจาก 28 ป่านำร่องสู่ป่าชุมชนกว่า 12,000 แห่งและป่าอื่นๆ ที่มีชุมชนร่วมบริหารจัดการทั่วประเทศเป็นภารกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทายแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่วิกฤตสิ่งแวดล้อมกำลังทวีความรุนแรง รีคอฟและสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน ประเทศไทย จึงร่วมกันพัฒนาคู่มือการจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชน ซึ่งรวมถึงแบบฟอร์มสำหรับการเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดทำแผนตามกรอบแนวทางของกรมป่าไม้ ภายใต้ความมุ่งหวังว่าคู่มือนี้จะเป็นเครื่องมือที่ง่ายสำหรับการใช้งานของชุมชน และเป็นแนวทางการทำงานที่ได้รับการยอมรับทั้งจากชุมชนและภาคส่วนต่างๆ สามารถนำไปเรียนรู้และทำงานร่วมกันต่อไป โดยได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และองค์กรภาคประชาสังคม มาเข้าร่วมหารือแลกเปลี่ยนบทเรียนจากกระบวนการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง พร้อมให้ความเห็นสำหรับพัฒนาเครื่องมือและต่อยอดความสำเร็จในวงกว้างขึ้นต่อไป เพื่อยกระดับบทบาทและศักยภาพของชุมชนในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคู่กับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและสามารถตั้งรับปรับตัวต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนไทยและเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง โครงการเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนไทย ได้รับทุนสนับสนุนจาก Darwin Initiative โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองและสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน ประเทศไทย ในฐานะองค์กรภาคีเครือข่าย ป่าไม้ภาคพลเมือง ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย โดย HAND Social Enterprise
////////////////////////////////////////
สกุ๊ปพิเศษโดย… ณัฐธภพ พันสาย / จ.ประจวบคีรีขันธ์ 0649646443

You missed