สสจ.นครสวรรค์ เตือนประชาชนเฝ้าระวังบุตรหลานจมน้ำช่วงปิดเทอมและน้ำท่วม


…………………………………………………………….

นายแพทย์จักราวุธ จุฑาสงฆ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ในช่วงนี้หลายโรงเรียน เริ่มปิดเทอม และบางพื้นที่ในจังหวัดนครสวรรค์กำลังประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเด็กหลายคนอยู่บ้าน ไม่มีผู้ดูแล อาจจะชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำ เช่น ลำคลอง ฝายกักเก็บน้ำ แหล่งน้ำตามธรรมชาติ หรือบริเวณที่มีน้ำท่วม ทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด หรือจมน้ำเสียชีวิตได้
ข้อมูลจากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค รายงานว่า ในปี พ.ศ.2567 พบการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 904 ครั้ง เสียชีวิตจำนวน 237 ราย กลุ่มอายุที่จมน้ำมากที่สุด คือกลุ่มอายุ 10-14 ปี ร้อยละ 44.73 รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี ร้อยละ 29.54 เด็กที่จมน้ำส่วนใหญ่เสียชีวิต ร้อยละ 73.37 และเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ร้อยละ 48.6 ได้รับการช่วยเหลือผิดวิธีโดยการกดหน้าอก ร้อยละ 48.12 และเด็กที่จมน้ำเสียชีวิตว่ายน้ำไม่เป็น ร้อยละ 55.98
สถานการณ์การจมน้ำ จังหวัดนครสวรรค์ ปี 2567 จากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2567 พบการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 26 ครั้ง เสียชีวิตจำนวน 5 ราย กลุ่มอายุที่จมน้ำมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี ร้อยละ 44.73 รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี ร้อยละ 25.74 เด็กที่จมน้ำส่วนใหญ่เสียชีวิต ร้อยละ 73.37 และเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ร้อยละ 66.67 ได้รับการช่วยเหลือผิดวิธีร้อยละ 75.00 และเด็กที่จมน้ำเสียชีวิตว่ายน้ำไม่เป็น ร้อยละ 33.33
ดังนั้นจึงขอเตือนผู้ปกครองดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตจากการจมน้ำ โดยมาตรการสำหรับเด็กเล็ก ให้ยึดหลัก “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” (อย่าใกล้ แหล่งน้ำ เพราะอาจเกิดผลัดตกลงไป ในน้ำ,อย่าเก็บ สิ่งของที่ตกไปในน้ำด้วยตนเองต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยเก็บ,อย่าก้ม หรือชะโงกลงไปในแหล่งน้ำเพราะอาจหัวทิ่มลงไปในน้ำได้) ส่วนเด็กโต ให้ยึดหลัก “ตะโกน โยน ยื่น” (ตะโกน เรียกขอความช่วยเหลือ, โยน อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว,ยื่น อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไม้ เชือก ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมา) ป้องกันการตกน้ำและจมน้ำเสียชีวิต และมาตรการ 4 ห้าม 4 ให้ (ห้ามหาปลาในช่วงไหลหลาก,ห้ามดื่มสุราแล้วลงเล่นน้ำ,ห้ามเดินผ่านหรือขับรถ ฝ่ากระแสน้ำท่วมเพราะระดับน้ำเพียง 6 นิ้ว จะทำให้รถเสียหลักและล้มได้ ,ห้ามเด็กเล็กลงเล่นน้ำ อาจพลัดตกหรือถูกน้ำ พัดได้,ให้อพยพไปยังพื้นที่สูง ให้รีบออกจากพื้นที่ในกรณีเกิดน้ำท่วม,ให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝาและผูกเชือก,ให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันเวลาฉุกเฉิน,ให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร สภาพอากาศตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด) เพื่อความปลอดภัยในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม

*****************************************
จัดทำโดย : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์