มทร.ล้านนา น่าน ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลภูฟ้า สำนักงานประมงจังหวัดน่าน และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดน่าน กรมประมง ลงพื้นที่เพื่อส่งเสริมและดำเนินการต่อยอดในโครงการ “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศในบริบทปลาสวยงามธรรมชาติเยี่ยมชมของดีอำเภอบ่อเกลือ ปรากฏการณ์ปลากอง ประจำปี 2567”

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลภูฟ้า ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน นำโดย ผศ.ดร.เอกชัย ดวงใจ หัวหน้าสาขาสัตวศาสตร์และประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน (มทร.ล้านนา น่าน) สำนักงานประมงจังหวัดน่าน ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดน่าน กรมประมง และผู้้จัดการศูนย์ประสานงานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พื้นที่จังหวัดน่าน ศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับคณะทำงานขององค์การบริหารส่วนตำบลภูฟ้า (อบต.ภูฟ้า) และประธานกลุ่มผู้อนุรักษ์พันธุ์ปลาปีกแดง ตำบลภูฟ้า ภายใต้การนำของผู้ใหญ่บ้าน สมหมาย คำแคว่น และชุดรักษาความสงบประจำหมู่บ่าน (ชรบ.) ได้ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรม “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศในบริบทปลาสวยงามธรรมชาติ เยี่ยมชมของดีอำเภอบ่อเกลือ ปรากฏการณ์ปลากอง ประจำปี 2567”

โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ทางทีมงานได้มีกิจกรรมการประชุมเพื่อวางแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในบริบทปลาสวยงามธรรมชาติ โดยใช้กิจกรรมการเยี่ยมชม “ปรากฏการณ์ปลากอง” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในต้นเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคมของปี ในหลายพื้นที่ของตำบลบ่อเกลือใต้และตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน อาทิ แหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาบ้านนาขวาง แหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาบ้านห่างทางหลวง แหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาบ้านผาสุก และแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาบ้านสบมาง ซึ่งทั้งหมดมีประชากรปลาปีกแดง จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 ตัว ทั้งในลำน้ำมางและแม่น้ำว้า โดยประชากรปลาปีกแดงในแต่ละแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาจะว่ายทวนกระแสน้ำเพื่อขึ้นมาผสมพันธุ์และวางไข่ในพื้นที่หาดหินซึ่งมีกระแสน้ำไหลต่อเนื่องช้า ๆ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ปรากฏการณ์ “ปลากอง” โดยปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเวลา 01.00-07.00 น. ของวันพระขึ้น 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ ของเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคมของทุกปี หลังจากปลาที่ขึ้นมาผสมพันธุ์และวางไข่แล้วก็จะกลับไปที่อยู่อาศัยตามแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาของชุมชน

โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้ คณะทำงานได้ประชุมวางแผนและกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศผ่านกิจกรรมการเดินทางเพื่อเยี่ยมชมการเกิดปรากฏการณ์ “ปลากอง” ของนักท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย และกำหนดแนวทางการเพาะขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรปลาปีกแดงในแต่ละแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาของชุมชน จำนวน 4 แห่ง รวมทั้งกำหนดแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านประมงภูเขาแก่เกษตรกรในพื้นที่ตำบลบ่อเกลือใต้และตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้เป็นหลักคิดเป็นหลักปฏิบัติในการขับเคลื่อนการพัฒนาผ่านกระบวนการระเบิดจากข้างใน เพื่อร่วมกันแก้ไขแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยการดำเนินงานเริ่มจากกลุ่มผู้นำชุมชนและชาวบ้าน มีความเห็นร่วมกันผ่านการเรียนรู้ จนกระทั่งเกิดผลสำเร็จได้ การเพิ่มโอกาสใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทยในระดับฐานราก ที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประชาชนในประเทศต่อใปในอนาคต

โดยการดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด นิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 18 กลุ่มคนรักป่าต้นน้ำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พื้นที่จังหวัดน่าน สำนักงานประมงจังหวัดน่าน ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดน่าน กรมประมง และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กลุ่มเรื่อง การเพิ่มมูลค่าปลาสวยงามเชิงเศรษฐกิจ กิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปี 2566-67 ภายใต้โครงการ การเพาะเลี้ยงปลาสวยงามธรรมชาติในบ่อดินปั้นเพื่อกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่จังหวัดน่าน/บุญยงค์ สดสอาด นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดน่าน รายงาน