ม.เจ้าพระยา นครสวรรค์ จัดแข่งขันหุ่นยนต์และกีฬาอีสปอร์ต ระดับอาเซียน ชิงถ้วยพระราชทานฯ

 

 

มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์ จัดโครงการแข่งขันหุ่นยนต์และกีฬา อีสปอร์ต ระดับอาเซียน ชิงถ้วยพระราชทาน “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”ครั้งที่2 ระหว่าง 12-14 กรกฎาคม นี้ ณ ศูนย์ประชุมเจ้าพระยาคอนเวนชั่นฮอลล์ มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์

ดร.ดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์ แถลงกับสื่อมวลชนจังหวัดนครสวรรค์ว่า ตามที่รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ (ปี 2561 – 2580) โดยปฏิรูปการศึกษาเพื่อเตรียมบุคลากรเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ครอบคลุมสถานศึกษาทุกระดับทั่วประเทศ พัฒนาศักยภาพทางการศึกษาของคนไทยทุกช่วงวัย ประกอบกับจังหวัดนครสวรรค์ ก็ได้จัดทำแผนพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์ พ.ศ. 2566-2570 สอดคล้องกับกับยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวโดยเฉพาะประเด็นการพัฒนาข้อที่ 7 “พัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์และสร้างสังคมพอเพียง ควบคู่การขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล” นอกจากนี้กิจกรรมแข่งขันหุ่นยนต์และอีสปอร์ตในระดับเยาวชนของมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์ ยังสอดคล้องกับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ 5 พัฒนาคนสำหรับโลกยุคเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล”

มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์ จึงจัดโครงการแข่งขันหุ่นยนต์และกีฬาอีสปอร์ต ระดับอาเซียน ชิงถ้วยพระราชทาน “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ครั้งที่2 ระหว่างวันศุกร์ – อาทิตย์ที่ 12-14 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมเจ้าพระยาคอนเวนชั่นฮอลล์ มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์

ดร.จิรนันท์ กมลสินธุ์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการแข่งขันหุ่นยนต์ฯ ดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเจ้าพระยากับสถาบันการศึกษาในเครือคือวิทยาลัยอาชีวศึกษาวิริยาลัยนครสวรรค์ร่วมกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ อาทิ โรงเรียนหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ และหน่วยงานราชการระดับจังหวัด โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และเครือข่ายความร่วมมือด้านหุ่นยนต์และองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยแบ่งการแข่งขัน 4 ประเภทหลัก ประกอบด้วย การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงถ้วยพระราชทาน การแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตชิงถ้วยพระราชทาน การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงถ้วยเกียรติยศ และการแข่งขันหุ่นยนต์บังคับมือขั้นพื้นฐานชิงถ้วยเกียรติยศ

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเจ้าพระยากล่าวในตอนท้ายว่า ในการจัดกิจกรรมใหญ่ระดับชาติครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเจ้าพระยามุ่งหวังให้นักเรียน นักศึกษา ที่เข้าร่วมแข่งขันได้เรียนรู้วิธีการออกแบบหุ่นยนต์ การใช้เครื่องมือช่าง การใช้ทักษะด้านกลศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ในการบูรณาการสาระการเรียนรู้ที่หลากหลายสาขา ช่วยให้สถาบันการศึกษาสามารถจัดการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศมีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันที่ใช้กติกาในระดับสากล เพิ่มโลกทัศน์ในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กว้างไกล ทำให้ได้รับความรู้นอกห้องเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านหุ่นยนต์และกีฬาอีสปอร์ตของเยาวชนไทยของเราต่อไป