อับดุลหาดี/ยะลา/1ก.ค.67
มทภ.4 ย้ำเจ้าหน้าที่เร่งขยายผลนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการกฎหมายให้เร็วที่สุด


วันนี้ 1 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. ที่โรงพยาบาลบันนังสตา ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ลงพื้นที่เข้าเยี่ยมติดตามอาการผู้บาดเจ็บจากกรณีเหตุคาร์บอมบ์ บริเวณหน้า แฟลตข้าราชการตำรวจ สถานีตำรวจภูธรบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 เวลา 10.30 น. ล่าสุดยังคงมีผู้บาดเจ็บ นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลบันนังสตาทราบชื่อคือ นายรอมือลี เจ๊ะสนิ อายุ 64 ปี, นางสาวน้ำอ้อย เตะเหมทอง อายุ 36 ปี พร้อมบุตรชาย คือ เด็กชาย อนาวิล สุนทรกิจ อายุ 9 เดือน
จากนั้นแม่ทัพภาคที่ 4 ยังได้เยี่ยมให้กำลังใจกับครอบครัวของ นาง รอกีเย๊าะห์ สะระนะ อายุ 45 ปี ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ที่ บ้านตันหยง หมู่ที่ 2 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา พร้อมกล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ครอบครัวสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักยิ่ง ซึ่งนับเป็นการสูญเสียบุคลากรสำคัญคนหนึ่งในพื้นที่ เนื่องจากผู้เสียชีวิตเป็นครูตาดีกาประจำมัสยิดกำปงลาแล อีกทั้งเป็นผู้มีความเสียสละ บำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวมในการพัฒนาด้านการศึกษาและสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดสันติสุขเสมอมา
พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ยังได้กล่าวอีกว่าการก่อเหตุ คาร์บอมบ์ เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และเมื่อเกิดเหตุจะนำมาซึ่งความสูญเสียกับทุกสิ่งเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ ฉะนั้นการดูแลพื้นที่จะต้องเข้มข้นอยู่ตลอดเวลา พร้อมกำชับกำลังพลต้องมีสติ ไม่ประมาท มีความตื่นตัวเสมอ และต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเวรยามให้สม่ำเสมอ เพราะกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคงพยายามกระทำต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และประชาชน ยืนยันด่านความมั่นคงทุกด่านมีความจำเป็นและต้องคุมเข้มตลอดเวลา เพื่อตรวจสอบบุคคลและยานพาหนะเข้าออกพื้นที่ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดเหตุ ประชาชนปลอดภัยในทุกมิติให้ดีที่สุด ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนเป็นด่านอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน พร้อมย้ำว่าบทเรียนที่เกิดขึ้นให้นำข้อผิดพลาดมาปรับปรุงแก้ไขให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อสร้างรอยยิ้ม สร้างความเชื่อมั่น นำความสงบสุขคืนสู่พี่น้องจังหวัดชายแดนใต้
ยืนยันเจ้าหน้าที่จะกระทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ทั้งการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และพยายามบังคับใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็น และสร้างความเข้าใจต่อครอบครัวผู้กระทำผิดให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จากเบาไปหาหนักตามสิทธิมนุษยชน ตามสถานการณ์ในพื้นที่

You missed